เทคโนโลยีชีวภาพกับความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน

ในปัจจุบันนี้มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งก็คือ เทคโนโลยีที่สามารถนำสิ่งมีชีวิตหรือผลผลิตของสิ่งมีชีวิตมาปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์เอง โดยมนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การทำน้ำปลา ซีอิ๊ว การหมักแอลกอฮอล์ การถนอมอาหารต่าง ๆ เป็นต้น การใช้เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ให้เพิ่มผลผลิตมากขึ้น และการใช้ประโยชน์ทางการแพทย เช่น การใช้สมุนไพรรักษาโรคและบำรุงร่างกาย เป็นต้น
ในยุคปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีชีวภาพต่าง ๆ มีรูปแบบที่ทันสมัยและสามารถให้ผลผลิตอย่างรวดเร็วมากขึ้น ทั้งยังมีการผสมผสานวิชาการหลากหลายสาขาเข้าด้วยกันตั้งแต่ความรู้ทางด้านชีววิทยา เคมี ชีวเคมี ไปจนถึงฟิสิกส์ชีวภาพเป็นสหวิทยาการที่นำความรู้พื้นฐานด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น
โดยปัจจุบันมนุษย์มีการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี
1. ด้านการแพทย์ เป็นการนำสารสำคัญในสิ่งมีชีวิตมาใช้ในการรักษาโรค เช่น วัคซีน การใช้ฮอร์โมนอินซูลินรักษาโรคเบาหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการใช้วิธีการทางเทคโนโลยีชีวภาพปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นตอ (stem cells) ยีนบำบัด (gene therapy) ในการแก้ปัญหาการมีบุตรยาก และการวินิจฉัยโรคบางชนิด
2. ด้านการเกษตร เป็นการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้พัฒนาการเกษตรเพื่อการเพิ่มผลผลิต การปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคและแมลง และเพื่อให้มีการผลิตสารสำคัญบางชนิดเพิ่มมากขึ้น เช่น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การดัดแปลงสารพันธุกรรม การถ่ายยีน (gene transfer) ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically modified organisims) ที่เรียกว่า GMOs
3. ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อลดสารพิษ กำจัดของเสีย และการรักษาสมดุลของสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ เช่น การบำบัดน้ำเสีย การกำจัดขยะ การลดปริมาณของเสียหรือวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ เป็นต้น โดยอาจใช้เทคโนโลยีการย่อยสลายของจุลินทรีย์ การสร้างเอนไซม์ในรูปแบบต่าง ๆ
4. ด้านอาหาร เป็นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการปรับปรุงคุณภาพอาหาร การถนอนอาหาร การผลิตอาหารรูปแบบต่าง ๆ เช่น การใช้จุลินทรีย์ในการหมักแอลกอฮอล์ การหมักนมโยเกิร์ต เป็นต้น
5. ด้านอุตสาหกรรม เป็นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อลดขั้นตอนการผลิต หรือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีขึ้น เช่น การใช้จุลินทรีย์ในกระบวนการผลิตสารต่าง ๆ และการผลิตวัสดุชีวภาพให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีขึ้น เช่น การใช้จุลินทรีย์ในกระบวนการผลิตสารต่าง ๆ และการผลิตวัสดุชีวภาพ เป็นต้น
6. ด้านนิติเวชศาสตร์ เป็นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการตรวจสอบลักษณะจำเพาะของบุคคล ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยพิจารณาจากความเหมือนหรือแตกต่างของพันธุกรรม เช่น การตรวจยืนยันบุตร การพิสูจน์หลักฐานในที่เกิดเหตุฆาตกรรม เป็นต้น
7. ด้านการอนุรักษ์ เป็นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เช่น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อช่วยให้สามารถขยายพันธุ์พืชบางชนิดที่ขยายพันธุ์ได้ยาก การเก็บรักษาน้ำเชื้อของสิ่งมีชีวิตไว้ ทำให้สามารถนำมาขยายพันธุ์ให้เกิดลูก เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตชนิดนั้นได้ เป็นต้น